สถานที่ท่องเที่ยว

วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จะหักอื่น ขืนหัก ก็จักได้ หักอาลัย นี้ไม่หลุด สุดจะหัก สารพัด ตัดขาด ประหลาดนัก แต่ตัดรัก นี้ไม่ขาด ประหลาดใจ ...

ประเพณีบุญเบิกฟ้า มหาสารคาม



ช่วงเวลา วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุก ๆ ปี (อยู่ระหว่างปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์)

ความสำคัญ
ประเพณีบุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีของชาวมหาสารคามที่ประกอบขึ้นตามความเชื่อว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกๆ ปี ฟ้าจะเริ่มไขประตูฝน โดยจะมีเสียงฟ้าร้อง และทิศที่ฟ้าร้องเป็นสัญญาณบ่งบอกตัวกำหนดปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาหล่อเลี้ยงการเกษตรในปีนั้น ๆ
ตำนานโบราณกล่าวถึงทิศที่ฟ้าร้องว่า
๑. ทิศบูรพา มีครุฑเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูน้ำ ถ้าฟ้าร้องทิศนี้ฝนจะดี ข้าวกล้าในนาจะอุดมสมบูรณ์ คนทั้งปวงจะได้ทำบุญให้ทานอย่างเต็มที่
๒. ทิศอาคเนย์ มีแมวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูลม ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะน้อย นาแล้ง คนจะอดอยาก และเกิดโรคระบาด
๓. ทิศทักษิณ มีราชสีห์เป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูทอง ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะมาก น้ำจะท่วมข้าวกล้าในนาเสียหายถึงสองในห้าส่วน นาลุ่มเสีย นาดอนดี มีปูปลาอุดมสมบูรณ์
๔. ทิศหรดี มีเสือเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูตะกั่วหรือประตูชิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะดี น้ำงามพอเหมาะ ผลหมากรากไม้อุดม ปูปลามีมาก ข้าวกล้าบริบูรณ์ ผู้คนมีความสุข
๕. ทิศปัจจิม มีนาคเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเหล็ก ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะแล้ง น้ำน้อย ข้าวกล้าในนาแห้งตาย เสียหายหนัก
๖. ทิศพายัพ มีหนูเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูหินถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ฝนจะตกปานกลาง ข้าวกล้าได้ผลกึ่งหนึ่ง เสียหายกึ่งหนึ่ง ปูปลามีน้อย คนจักป่วยไข้
๗. ทิศอุดร มีช้างเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูเงิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดี ข้าวกล้าในนางอกงามดี คนมีสุขทั่วหน้า
๘. ทิศอีสาน มีงัวเป็นสัตว์ประจำทิศ เป็นทิศประตูดิน ถ้าฟ้าร้องทางทิศนี้ ฝนจะดีตลอดปี ข้าวกล้าในนาจะงอกงามสมบูรณ์ดี คนจะมีความสุขเกษมตลอดปีอย่างถ้วนหน้า
ด้วยความเชื่อตามตำนานดังกล่าว ชาวมหาสารคามจึงมีประเพณีบุญเบิกฟ้า (เดิมเรียกว่าบุญเบิกบ้าน) เพื่อขอพรจากแถน (เทพผู้เป็นใหญ่) ให้ไขประตูฟ้าทางทิศที่เป็นมงคล
อนึ่งในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้น ๓ อย่างคือ
๑. กบไม่มีปาก คือจะมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดรูกบเป็นอันว่าวันนั้นกบจำศีล ไม่ฆ่าสัตว์อื่น ๆ เป็นอาหาร
๒. นากไม่มีรูทวาร คือมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นปิดทวารหนักของตัวนาก เป็นอันว่านากจะไม่ขับถ่ายในวันนั้น เพราะไม่ได้กินอาหาร
๓. มะขามป้อมจะมีรสหวาน

พิธีกรรม
พิธีกรรมบุญเบิกฟ้า มี ๔ อย่างคือ
๑. จัดพิธีสู่ขวัญข้าว ชาวอีสานเรียกว่าทำบุญตุ้มปากเล้า
๒. หาบปุ๋ยคอก (ชาวอีสานเรียกว่าฝุ่น)ไปใส่ผืนนา
๓. ทำบุญเฮือน (ทำร่วมกับทำบุญปากเล้า)
๔. นำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด
มีลำดับขั้นตอนการทำพิธีต่าง ๆ ดังนี้
๑. พิธีสู่ขวัญข้าว เพื่อแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เพื่อความสบายใจในการซื้อขายข้าว และเพื่อให้การแบ่งปันข้าวแก่ญาติมิตรผู้มาร่วมพิธี
เครื่องบูชาหรือเครื่องคายในพิธีสู่ขวัญข้าว
๑. ใบคูน ๙ ใบ
๒. ใบยอ ๙ ใบ
๓. ขันหมากเบ็ง (พานบายศรี)ห้าชั้น ๒ ขัน
๔. กระทงใหญ่เก้าห้อง ใส่เครื่องบัดพลีต่าง ๆ มีหมากพลู บุหรี่ ข้าวตอก ดอกสามปีบ่เหี่ยว (บานไม่รู้โรย) ดอกรัก ถั่วงา อาหารคาวหวาน หมากไม้ เหล้าไห ไก่ตัว ไข่ไก่ ข้าวต้มมัด เผือก มัน มันแข็ง มันอ่อน มันนก ข้าวต้มใส่น้ำอ้อย
๕. ต้นกล้วย
๖. ต้นอ้อย
๗. ขัน ๕ ขัน ๘ (พานใส่ดอกไม้และเทียนจำนวนอย่างละ ๕ คู่และ ๘ คู่ ตามลำดับ)
๘. เทียนกิ่ง
๙. ธูป
๑๐. ประทีป
๑๑. แป้งหอม
๑๒. น้ำหอม
๑๓. พานใส่แหวน หวี กระจก
๑๔. เครื่องนอน มีสาดอ่อน (เสื่อ) หมอนลาย หมอนพิง แป้งน้ำ
๑๕. ฟักแฟง ฟักทอง กล้วยตานี กล้วยอีออง (กล้วยน้ำว้า)
๑๖. เงินคาย ๑ บาทกับ ๑ เฟื้อง

พิธีกรรม
๑. จัดเครื่องบูชาวางไว้บนกองข้าว ในยุ้งฉางข้าวมีผ้าขาวปูรองรับ โยงด้ายสายสิญจน์ จากเครื่องบูชานั้น โยงไปรอบยุ้งและไปยังเรือนเจ้าของยุ้ง
๒. หมอสูตรหรือเจ้าพิธีจะนุ่งขาวห่มขาวแบบพราหมณ์ ถือหนังสือใบลานก้อมเรื่องคำสูตรขวัญข้าวขึ้นไปที่ยุ้ง นั่งลงตรงหน้าเครื่องบูชา หันหน้าไปทางทิศที่เป็นมงคลประจำวัน ไหว้พระรัตนตรัย ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดาแล้วอ่านคำสูตรขวัญข้าวจากหนังสือก้อม
๓. ในขณะที่หมอสูตรกำลังร่ายคำอยู่นั้น จะมีคน ๒ คน ยืนระวังอยู่ ๒ ข้างประตูยุ้งฉาง คอยส่งเสียงร้องเรียกขวัญข้าวเป็นระยะ ๆ สอดคล้องกับคำสูตรของหมอสูตร
๔. เมื่อหมอสูตรว่าคำสูตรจบลงเป็นอันเสร็จพิธี แต่เครื่องบูชาทั้งหลายให้วางไว้ที่เดิมอีก ๗ วัน เว้นแต่มีสิ่งใดที่เน่าบูดก็เก็บออกได้
๕. ห้ามทำการตักข้าวออกจากยุ้งฉางก่อนจะครบ ๗ วัน หลังจากทำพิธีสู่ขวัญข้าวแล้ว
๒. พิธีหาบฝุ่น(ปุ๋ยคอก)ใส่ผืนนา
เพื่อบำรุงดิน
พิธีการ
ในตอนเช้ามืดของวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ชาวนาจะต้องหาบปุ๋ยคอกจากกองมูลวัว มูลควาย ซึ่งมักอยู่ใต้ถุนเรือนของตน ทยอยออกไปใส่ผืนนา จนกระทั่งถึงเที่ยงวัน จึงหยุด เป็นการเริ่มต้นเอาฝุ่น (ปุ๋ยคอก) ใส่นาในปีนั้น
๓. พิธีทำบุญเฮือน
เพื่อนำสิริมงคลจากพระรัตนตรัยมาสู่ที่อยู่อาศัย
พิธีการ
ตอนเย็นนิมนต์พระภิกษุจำนวน ๕ หรือ ๙ รูป มาสวดมนต์เย็นที่บ้าน ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นนิมนต์พระสงฆ์ชุดเดิมมาสวดมนต์เช้าที่บ้านแล้วทำบุญตักบาตรและถวายจังหันเช้า
๔. พิธีนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงมาถวายวัด
เพื่อแสดงความเคารพศรัทธาต่อพระสงฆ์ เนื่องจากคนอีสานโบราณนั้นมีศรัทธาแรงกล้าต่อพุทธศาสนา เมื่อได้สิ่งที่ดี ๆ ต้องนำไปถวายพระก่อน สมัยก่อนในวัดทุกวัดจะมียุ้งฉางข้าว (เล้าข้าว) ปลูกไว้ด้วย เมื่อญาติโยมบริจาคข้าวเปลือกก็นำมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เอาไว้แจกทานต่อผู้ยากไร้ในโอกาสต่อไป
พิธีการ
เมื่อถึงวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จะตรงกับช่วงที่ชาวนานำข้าวเปลือกมาสู่เล้าหรือยุ้งฉางเสร็จใหม่ ๆ ชาวอีสานมีข้อคะลำหรือขะลำ (ข้อควรระวังหรือข้อห้าม) เกี่ยวกับข้าวว่า
๑. ถ้ายังไม่ทำพิธีสู่ขวัญข้าวห้ามตักข้าวออกจากยุ้งฉาง ถ้าจำเป็นต้องใช้บริโภคต้องกันจำนวนหนึ่งไว้ต่างหาก
๒. ห้ามตักข้าวในยุ้งฉางในวันศีลน้อยใหญ่ (วัน ๗-๘ ค่ำ และวัน ๑๔-๑๕ ค่ำ ทั้งขึ้นและแรม)
๓. ก่อนตักข้าวทุกครั้ง ต้องนั่งลงยกมือขึ้นพนมแล้วกล่าวคาถาว่า "บุญข้าว บุญน้ำเอย กินอย่าให้บก จกอย่าให้ลง" แล้วจึงตักได้
ดังนั้น ในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี จึงมีพิธีสู่ขวัญข้าว พิธีต้มปากเล้า พิธีเอาบุญเฮือน และตอนบ่าย ๆ ของวันนั้นจะนำข้าวเปลือกเต็มกระบุงไปถวายวัด แล้วจึงใช้ข้าวในยุ้งฉางเป็นประโยชน์ได้ตามอัธยาศัย

สาระ
ประเพณีบุญเบิกฟ้า มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตและจิตใจของเกษตรกรคือ
๑. เป็นการเตรียมพร้อมที่จะลงมือทำการเกษตรได้ทันฤดูกาล เพราะเมื่อถึงเทศกาลบุญเบิกฟ้า พวกเขาย่อมได้ทำบุญให้เกิดขวัญและกำลังใจ ได้หาบปุ๋ยคอกบำรุงดิน แล้วเตรียมกาย เตรียมใจและเครื่องมือให้พร้อมที่จะทำนา
๒. เป็นผู้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพุทธศาสนา เพราะได้ทำบุญเป็นประจำทุกปี ทำให้รู้จักเสียสละไม่ตระหนี่ถี่เหนียว
๓. เป็นผู้มีความกตัญญูต่อผืนนา สิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ ตลอดจนเทพต่าง ๆ ที่เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลฝนและธัญญาหารเช่น พญาแถน และพระแม่โพสพ เป็นต้น
๔. เป็นผู้รู้จักประหยัดเช่น รู้จักเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางอย่างมีระเบียบ แม้แต่จะ ตักออกก็ยังมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ช่วยเตือนสติไม่ให้ใช้ข้าวอย่างสุรุ่ยสุร่าย ดังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าที่ว่า "นตฺถิ ธญฺญสม ธน" แปลว่า "ทรัพย์เสมอด้วยข้าวเปลือกไม่มี"


ขอขอบคุณที่มา : http://www.prapayneethai.com/th/tradition/north_east/view.asp?id=0500

ประวัติความเป็นมาของงานแห่เทียนพรรษาเมืองอุบลราชธานี



พรรษา คือ ช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝนที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติธรรมอยู่วัดใดวัดหนึ่งโดยตลอดจะไปค้างคืนที่วัดอื่นไม่ได้ ข้อห้ามที่ให้พระอยู่วัดใดวัดหนึ่งตลอด 3 เดือนนี้ เพราะฤดูฝนเป็นฤดูเพาะปลูก ข้าวกล้าพืชผลของชาวบ้านกำลังเขียวขจี ถ้าพระออกเดินทางในฤดูนี้จะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าพืชผลของชาวบ้านเสียหายได้ พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์หยุดเข้าพรรษาหรือหยุดพักฝน 3 เดือนไม่ให้จาริกเดินทางไปค้างคืนที่อื่นๆ (เข้าพรรษาแปลว่าพักฝน) การเข้าพรรษาจึงมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลหรือตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า

วันเข้าพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติหรืออยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคมแล้วนับไปอีก 3 เดือนก็จะเป็นวันออกพรรษา ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรืออยู่ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี เมื่อพระต้องหยุดพักฝนหรือหยุดเข้าพรรษาทำให้พระมีเวลาศึกษาหาความรู้โดยเฉพาะการอ่านหนังสือ เวลาอ่านหนังสือให้เข้าใจและจดจำได้ดีที่สุดคือเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่เงียบสงบทำสมาธิได้ง่าย ในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าเวลาพระจะอ่านหนังสือจึงจุดเทียน เมื่อชาวบ้านทราบจึงทำเทียนไปถวายพระ โดยเฉพาะการถวายในวันเข้าพรรษา ซึ่งถือว่าได้บุญกุศลมากยิ่งนัก นั่นคือจะทำให้ชีวิตของผู้ถวายมีความสุขสบาย สว่างไสว ไม่มืดมน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้ เฉลียวฉลาดนั่นเอง ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Bright การถวายเทียนแด่พระในวันเข้าพรรษาจึงเป็นประเพณีของชาวพุทธมาแต่โบราณกาลนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันชาวบ้านสมัยใหม่จะนิยมถวายหลอดไฟฟ้าแทน เพราะมีความสว่างมากกว่าเทียน ใช้งานง่าย สะดวก และได้บุญกุศลมากเช่นกัน

ชาวอุบลฯ ก็เหมือนกับชาวพุทธทั่วไป เมื่อถึงวันเข้าพรรษาก็จะนำเทียนไปถวายพระ ในสมัยก่อนยังไม่มีเทียนสำเร็จรูปขาย ชาวบ้านจะใช้ขี้ผึ้งซึ่งได้จากรังผึ้งมาต้มให้ละลายแล้วเอาฝ้ายที่จะทำเป็นไส้เทียนจุ่มลงไปในน้ำผึ้งที่ละลายนั้น ปล่อยให้เย็นพอที่จะเอามือคลึงให้ขี้ผึ้งโอบล้อมไส้เทียนให้เต็ม (วิธีการแบบนี้ชาวอุบลฯ เรียกว่า “ฟั่นเทียน”) จากนั้นนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการ เสร็จเรียบร้อยก็จะเป็นเทียนที่พร้อมนำไปถวายพระได้
การนำเทียนไปถวายพระของชาวอุบลฯ ในสมัยก่อน ไม่ได้มีการแห่แหนหรือการประกวดประชันกันอย่างทุกวันนี้ เป็นแต่เพียงการถวายเทียนพร้อมกับเครื่องไทยธรรมไทยทานอื่นๆ รับศีลรับพรจากพระ

แล้วก็กลับบ้าน สาเหตุที่การถวายเทียนจะต้องมีการแห่แหนและมีการประกวดประชันอย่างทุกวันนี้ เล่ากันว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นข้าหลวงใหญ่มาปกครองมณฑลลาวกาว ซึ่งมีที่ตั้งมณฑลอยู่ที่เมืองอุบลฯ ได้เห็นการบาดเจ็บล้มตายของชาวบ้านจากงานประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งมีทั้งบาดเจ็บล้มตายเพราะบั้งไฟระเบิดหรือตกใส่บ้านเรือน หรือบาดเจ็บล้มตายเพราะการทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงเพราะความเมามายในสุรา หรือบางครั้งเพราะการละเล่นโคลนตมที่สนุกสนานเกินเลย หรือการละเล่นตุ๊กตาไม้ในท่าทางร่วมเพศตามแบบฉบับของงานบุญบั้งไฟ เรื่องต่างๆ เหล่านี้พระองค์ท่านทรงเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ดีไม่งาม จึงให้ยกเลิกการจัดงานบุญบั้งไฟและให้เปลี่ยนเป็นการแห่เทียนพรรษาแล้วนำไปถวายพระแทน

เทียนพรรษา ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์นั้นจะเป็นการทำเทียนร่วมกันของชาวบ้านในแต่ละคุ้ม (คุ้ม คือ กลุ่มชุมชนเล็กๆ ของชุมชนใหญ่ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีหลายคุ้ม) โดยการนำขี้ผึ้งมารวมกัน ต้มให้ละลายแล้วเทใส่เบ้าหลอม ตกแต่งให้สวยงามแล้วใส่คานหามหรือบรรทุกใส่เกวียน นำเข้าขบวนแล้วแห่ไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑล เมื่อทุกคุ้มมารวมพร้อมกันแล้ว พระองค์จะประทานรางวัลให้กับคุ้มที่ทำต้นเทียนได้สวยงาม เสร็จแล้วจะให้จับฉลากว่าคุ้มไหนจะถวายเทียนวัดอะไร เมื่อรู้ว่าจะไปถวายวัดอะไรแล้วแต่ละคุ้มก็จะแห่แหนไปถวายวัดนั้น การแห่เทียนพรรษาจึงเริ่มมีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

การทำเทียนพรรษาของชาวบ้านแต่ละคุ้มในระยะแรกนี้ จะเป็นเทียนที่สามารถจุดใช้งานได้จริง มีขนาดเท่ากับต้นไผ่ (เพราะใช้ต้นไผ่เป็นเบ้าหลอม) บางคุ้มก็จะเท่ากับต้นกล้วย แล้วแต่ว่าคุ้มไหนจะหาเบ้าหลอมและหาขี้ผึ้งได้มากน้อยแค่ไหน ผิวต้นเทียนจะเรียบมันไม่มีลวดลาย แต่จะแต่งต้นเทียนโดยใช้กระดาษสีตัดเป็นเส้นหรือเป็นลวดลาย แล้วนำมาพันรอบต้นเทียนหรือติดกับต้นเทียนเป็นกลุ่มลวดลายต่างๆ บางคุ้มก็จะใช้วิธีนำเทียนเล่มเล็กๆ มามัดรวมกันให้เป็นเทียนต้นใหญ่ หรือบางครั้งประหยัดเงินค่าเทียนก็จะใช้ไม้กลมๆ หรือไม้เสาทำเป็นแกนแล้วนำเทียนมัดรอบแกนเสา ตกแต่งด้วยกระดาษเพื่อไม่ให้เห็นเชือกที่มัด (วิธีนี้เริ่มขึ้นเมื่อมีเทียนสมัยใหม่และมีขายทั่วไปแล้ว จึงเป็นการประหยัดเวลาเพราะไม่ต้องต้มขี้ผึ้ง)
เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีประกอบกับมีการแข่งขันให้รางวัล คุ้มที่ตกแต่งต้นเทียนได้สวยงามแปลกแตกต่างไปจากต้นเทียนคุ้มอื่น จึงมักจะได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เสมอ การประดับตกแต่งต้นเทียนแบบใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น นั่นคือจากเดิมที่ใช้กระดาษติดเป็นลวดลายต่างๆ ก็เปลี่ยนเป็นการใช้ขี้ผึ้งหล่อลวดลายจากแบบพิมพ์ก่อนแล้วจึงนำไปติดที่ต้นเทียน ซึ่งจะทำให้ต้นเทียนมีความสวยงามกว่าติดด้วยกระดาษ ต้นเทียนคุ้มที่ตกแต่งแบบนี้จึงมักจะได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เสมอๆ เช่นเดิม เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี การตกแต่งแบบติดพิมพ์ด้วยเทียนก็ซ้ำซากจำเจ คุ้มที่อยากชนะจึงต้องหาวิธีตกแต่งต้นเทียนที่แปลกแตกต่างออกไป การแกะสลักลงไปในเนื้อต้นเทียนให้เป็นรูปและลวดลายต่างๆ จึงเกิดขึ้น และคุ้มที่จัดทำแบบนี้ก็ได้รับชัยชนะ เมื่อการตกแต่งต้นเทียนให้สวยงามมีวิธีการแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการแบ่งประเภทต้นเทียนและให้มีรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภทเกิดขึ้น ต้นเทียนในเวลาต่อมาจึงมีสองแบบ คือ แบบติดพิมพ์และแบบแกะสลัก

อย่างไรก็ตามทั้งสองแบบก็ยังเป็นแต่เพียงต้นเทียนอย่างเดียว ไม่มีองค์ประกอบอื่นมากมายนัก โดยเฉพาะฐานต้นเทียนก็เป็นฐานที่ทำขึ้นเพื่อไม่ให้ต้นเทียนล้มเท่านั้น คุ้มที่อยากชนะจึงต้องหาวิธีตกแต่งที่แตกต่างออกไปอีกเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้การตกแต่งฐานต้นเทียนให้แปลกแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการตกแต่งให้เป็นรูปลอยตัว ของสัตว์ในวรรณคดีหรือเรื่องราวทางพุทธประวัติ ในอากัปกริยาต่างๆ ก็เกิดขึ้น เช่นเดิมคุ้มที่จัดทำแบบนี้ก็ชนะ และถ้าคุ้มอื่นทำตามคุ้มที่อยากชนะในปีต่อไปก็จะทำให้แปลกแตกต่างๆ หรือทำให้ใหญ่ ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ทางวรรณคดีหรือทางพุทธประวัติที่ครบสมบูรณ์ในต้นเทียนต้นเดียวหรือขบวนเดียว ผู้ชมดูแล้วเพลิดเพลิน ได้ความรู้ ได้อรรถรส อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยต้นเทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ มีมานานนับร้อยปี จึงมีวิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติดังที่กล่าวมา จากการแห่เทียนธรรมดาที่เรียบง่ายเป็นการแห่เทียนที่มีการร้องรำทำเพลงและการแสดงต่างๆ มากมาย จากการรวมกลุ่มร่วมมือร่วมแรงของชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในราคาถูกเป็นการจัดทำของกลุ่มชาวบ้านกลุ่มพ่อค้าและข้าราชการต่างๆ ที่มีราคาแพง จากการแบกหามบรรทุกใส่เกวียนเป็นการบรรทุกใส่รถ จากรถคันเล็กเป็นรถคันใหญ่ จากรถคันใหญ่เป็นรถหลายคัน จากรถคันสั้นเป็นรถคันยาว จากรางวัลเพียงไม่กี่บาทก็เป็นรางวัลหลายแสนบาท จากการดำเนินงานตามลำพังของจังหวัดอุบลฯ ก็เป็นการดำเนินงานร่วมกันกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ วิวัฒนาการมากมายหลายแบบหลายมิติเช่นนี้ ด้วยเพราะความอยากให้ต้นเทียนมีความแปลกแตกต่าง มีความสวยงาม มีความยิ่งใหญ่และชัยชนะ

ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากภาคราชการ เอกชน และชาวบ้านคุ้มต่างๆ ในวันนี้ เทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ จึงนำมาซึ่งเกียรติยศ ชื่อเสียง ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้เมืองอุบลฯ จึงเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวอุบลฯ ยิ่งนัก

หมายเหตุ
เทียนและการแห่เทียนพรรษาของเมืองอุบลฯ ถึงแม้จะมีความยิ่งใหญ่ สวยงาม วิจิตร ตระการตา ทั้งขบวนแห่และต้นเทียน และมีกิจกรรมประกอบงานมากมาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มจะซ้ำและจำเจในความรู้สึกของคนอุบลฯแล้ว ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาคนอุบลฯก็จะคิดหาวิธีการที่แปลกแตกต่างออกไปเพื่อให้ได้สิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ตามมา หนึ่งในความแปลก แตกต่าง ที่ได้ยินได้ฟังมานั้น คือ การแห่เทียนทางน้ำ ทั้งนี้เพราะอุบลฯ มีแม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายสำคัญและไหลผ่านตัวเมืองด้วย การแห่เทียนทางน้ำจะทำให้มีกิจกรรมและวิธีการต่างๆ มากมาย ทั้งทางขวนแห่และการจัดทำต้นเทียน อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำอีกด้วย (มีผู้เสนอให้แห่ทางน้ำหนึ่งวัน ทางบกหนึ่งวัน เริ่มขบวนแห่ที่หาดคูเดื่อสิ้นสุดที่หาดวัดใต้ ให้มีเรือแพ เรือพาย เรือแข่ง และเรืออื่นๆ เป็นเรือประกอบ มีเรือต้นเทียนเป็นเรือหลัก เรือต้นเทียนจะเป็นเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ในน้ำเป็นเรือพอขึ้นบกวิ่งเป็นรถเข้าขบวนแห่ทางบกได้เลย มีการประกวดทั้งบนบกและในน้ำ เสร็จแล้วนำไปถวายวัดที่อยู่ฝั่งน้ำ เช่น วัดสุปัฎนาราม วัดหลวง วัดใต้ เป็นต้น)

บทความโดย : หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี

ที่มา : http://ubonguide.org/book14/formcover14_1.html

อุทยานแห่งชาติภูกระดึง น่าเที่ยวมากมาย

ที่ตั้งและแผนที่
สถานที่ติดต่อ : หมู่ที่ 1 บ้านศรีฐาน ต.ศรีฐาน อ. ภูกระดึง จ. เลย 42180
โทรศัพท์ : 042-871333, 042-871458
โทรสาร : 042-871333, 042-871458
E-mail : phukradueng_11@hotmail.com

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายสนอง แก้วอำไพ

ขนาดพื้นที่
217576.25 ไร่

หน่วยงานในพื้นที่
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.1 (วังกวาง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.2 (อีเลิศ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.3 (นาน้อย)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.4 (พองหนีบ)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง)
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ ลย.6 (ภูขี้ไก่)

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพทั่วไปของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัดอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบสูงโคราช ใกล้กับด้านลาดทิศตะวันออกของเทือกเขาเพชรบูรณ์ ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของภูกระดึงเกิดขึ้นในมหายุค Mesozoic เป็นหินในชุดโคราช ประกอบด้วยชั้นหินหมวดหินภูพานหมวดหินเสาขัว หมวดหินพระวิหาร และหมวดหินภูกระดึง พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูเขาอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 400-1,200 เมตร มีพื้นที่ราบบนยอดเขากว้างใหญ่คล้ายรูปใบบอน ประกอบด้วยเนินเตี้ยๆ ยอดสูงสุดคือ บริเวณคอกเมย สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,316 เมตร สภาพพื้นที่ราบบนยอดภูกระดึงมีส่วนสูงอยู่ทางด้านตะวันตกและตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ค่อยๆ ลาดเทลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้ลำธารสายต่างๆ ที่เกิดจากแหล่งน้ำบนภูเขาไหลไปรวมกันทางด้านนี้ เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง ซึ่งหล่อเลี้ยงเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนหนองหวาย ในจังหวัดขอนแก่น


ลักษณะภูมิอากาศ

ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงบริเวณที่ระดับต่ำตามเชิงเขา มีสภาพโดยทั่วไปใกล้เคียงกับบริเวณอื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน สภาพอากาศทั่วไปบนยอดภูกระดึง แตกต่างจากสภาพอากาศในที่ราบต่ำเป็นอย่างมาก โดยปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำฝนบนที่ต่ำ เนื่องจากอิทธิพลของเมฆ/หมอกที่ปกคลุมยอดภูกระดึงเป็นเนืองนิจ ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 0-10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 21-24 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยระหว่าง 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยระหว่าง 23-30 องศาเซลเซียส อากาศบนยอดภูกระดึงมักจะแปรปรวน มีเมฆหมอก ลอยต่ำปกคลุมบ่อยครั้ง อากาศจึงค่อนข้างเย็นตลอดปี

ในช่วงฤดูฝน มักเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เกิดการพังทะลายของภูเขาและมีน้ำป่า ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดให้ปิด-เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว หลังจากนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมากในแต่ละปี ดังนี้

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 30 กันยายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 พฤษภาคม ของทุกปี

พืชพันธุ์และสัตว์ป่า

สังคมพืชของภูกระดึงเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดป่าหนึ่ง มีทั้งป่าผลัดใบ และป่าดงดิบ ที่ระดับความสูงต่างๆ จำแนกออกได้เป็น

ป่าเต็งรัง พบบนที่ราบเชิงเขาและบนที่ลาดชันจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 600 เมตร ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด รกฟ้า อ้อยช้าง กว้าว มะกอกเลื่อม มะค่าแต้ ช้างน้าว ติ้วขน ยอป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย หญ้าเพ็ก ขึ้นเป็นกอหนาแน่น แทรกด้วยไม้พุ่มและพืชล้มลุก

ป่าเบญจพรรณ พบตั้งแต่บนพื้นที่ราบเชิงเขาและที่ลาดชันตามไหล่เขารอบภูกระดึง จนถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 950 เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ แดง ประดู่ป่า กระบก ตะแบกเลือด ยมหิน มะกอก งิ้วป่า แสมสาร มะค่าโมง ตะคร้ำ สมอไทย สำโรง โมกมัน ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วยหญ้าและกอไผ่ของไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่หลวง ไผ่ซางหม่น ไม้พุ่ม เช่น หนามคณฑา กะตังใบ สังกรณี ไผ่หวานบ้าน ฯลฯ ไม้เถา เช่น แก้วมือไว สายหยุด นมวัว ตีนตั่ง หนอนตายหยาก กลอย ฯลฯ พืชล้มลุก เช่น บุกใหญ่ ผักปราบ แห้วกระต่าย ฯลฯ พืชกาฝากและอิงอาศัย เช่น ข้าวก่ำนกยูง ดอกดิน ชายผ้าสีดา เป็นต้น

ป่าดิบแล้ง พบตามฝั่งลำธารของหุบเขาที่ชุ่มชื้นทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตก ตั้งแต่เชิงเขาจนถึงระดับความสูงประมาณ 950 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ ก่อ ตะเคียนทอง ยางแดง ยมหอม ตะแบกเปลือกบาง หว้า มะม่วงป่า สัตตบรรณ มะหาด คอแลน เชียด ฯลฯ พืชพื้นล่างแน่น เป็นพวกไม้พุ่ม ไม้เถา เช่น สร้อยอินทนิล กระทงลาย เถามวกขาว เล็บมือนาง กระไดลิง ฯลฯ พืชล้มลุก เช่น ข่าคม ก้ามกุ้ง ฯลฯ หวายและเฟินหลายชนิด

ป่าดิบเขา พบตั้งแต่ระดับ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่วมแดง ทะโล้ สนสามพันปี พะอง จำปีป่า พญาไม้ ก่อเดือย ก่อหนาม ก่อหมู ส้านเขา รัก เหมือดคนดง เฉียงพร้านางแอ พะวา เดื่อหูกวาง ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วยไม้พุ่ม เช่น กุหลาบแดง มือพระนารายณ์ ฮอมคำ จ๊าฮ่อม ฯลฯ ตามหน้าผาริมขอบภูพบปาล์มต้นสูงขึ้นห่างๆ ได้แก่ ค้อดอย ไม้เถา เช่น กระจับเขา เครือเขาน้ำ แก้มขาว หนามไข่ปู ใบก้นปิด ย่านหูเสือ เป็นต้น

ป่าสนเขา พบเฉพาะบนที่ราบยอดภูกระดึงที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,350 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สนสองใบ ก่อเตี้ย ทะโล้ สารภีดอย มะเขื่อเถื่อน รัก ฯลฯ พืชพื้นล่างประกอบด้วย สนทราย ส้มแปะ กุหลาบขาว เม้าแดง พวงตุ้มหู นางคำ ฯลฯ ตามลานหินมีพืชชั้นต่ำพวกไลเคน ประเภทแนบกับหินเป็นแผ่น และประเภทเป็นฟองเรียก ฟองหิน ปกคลุมทั่วไป นอกจากนี้จะพบเอื้องคำหิน ม้าวิ่ง และเขากวาง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่ออกเป็นกอหนาแน่น พืชล้มลุก เช่น ดาวเรืองภู ว่านคางคก ต่างหูขาว เนียมดอกธูป แววมยุรา หญ้าข้าวก่ำขาว โสภา เทียนภู เปราะภู ดอกหรีด ขนนกยูง หญ้าเหลี่ยม น้ำเต้าพระฤาษี กูดเกี๊ยะ เป็นต้น บนพื้นดินที่ชุ่มแฉะ มอสจำพวกข้าวตอกฤาษีหลายชนิดขึ้นทับถมแน่น คล้ายผืนพรม บางแห่งมีพืชล้มลุกขนาดเล็กหลายชนิดขึ้นปะปนกันแน่น เช่น กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว ดุสิตา และหญ้าข้าวก่ำ

ภูกระดึง ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ทุ่งหญ้าและลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าภูกระดึงมีหลายชนิดที่พบเห็นทั่วไป ได้แก่ ช้างป่า เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงกัง ลิงลม บ่าง กระรอกหลากสี กระแต หนูหริ่งนาหางยาว ตุ่น เม่นหางพวง พังพอน อีเห็น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกเค้ากู่ นกตะขาบทุ่ง นกโพระดกคอสีฟ้า นกตีทอง นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง นกนางแอ่นสะโพกแดง นกเด้าดินสวน นกอุ้มบาตร์ นกขี้เถ้าใหญ่ นกกระทาทุ่ง นกพญาไฟใหญ่ นกกางเขนดง นกจาบดินอกลาย นกขมิ้นดง ตุ๊กแก จิ้งจกหางแบนเล็ก กิ้งก่าสวน จิ้งเหลนบ้าน เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูลายสอบ้าน งูจงอาง งูเก่า งูเขียวหางไหม้ อึ่งอี๊ดหลังลาย เขียดหนอง คางคก กบหูใหญ่ ปาดแคระ และมีเต่าชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยาก คือ เต่าปูลู หรือ “เต่าหาง” เป็นเต่าที่หางยาว อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าเขาระดับสูงของประเทศไทย กัมพูชา และ ลาว

การเดินทาง

รถยนต์
เดินทางโดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง
1) เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ด่านซ้าย ภูเรือ และอำเภอเมืองเลย เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 (เลย-ขอนแก่น) และเลี้ยวเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 2019 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

2) ใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา จนถึงจังหวัดขอนแก่นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูผาม่าน และตำบลผานกเค้า เข้าสู่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

3) เดินทางผ่านจังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 201 ผ่านจังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ จากนั้นเดินทางเช่นเดียวกับเส้นทางที่ 2

เครื่องบิน
เดินทางโดยเครื่องบิน โดยใช้เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ขอนแก่น กรุงเทพฯ-เลย กรุงเทพฯ-อุดรธานี ของสายการบินต่างๆ ได้ทุกวัน สอบถามข้อมูลเที่ยวบินและสายการบิน โทร. 0-2628-2000, 0-2515-9999, 0-2267-2999 และ 1318

รถไฟ
เดินทางโดยรถไฟ ขึ้นรถไฟที่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพงถึงสถานีรถไฟขอนแก่น ต่อรถโดยสารสายขอนแก่น-เลย ถึงอำเภอภูกระดึงแล้วต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง สอบถามข้อมูลรถไฟ โทร. 0-2225-1300 ต่อ 5201 ,0-2223-0341-3 หรือติดต่อสอบถามโดยตรงที่อุทยานแห่งชาติกระดึง โทร. 0-4287-1333, 0-4287-1458

รถโดยสารประจำทาง
เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2) สายกรุงเทพ-เมืองเลย ลงรถที่ผานกเค้า หรือสถานีขนส่งอำเภอภูกระดึง แล้วต่อรถสองแถวเข้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง สอบถามข้อมูลรถโดยสาร โทร.0-2936-2852-66 อัตราค่าโดยสาร
รถปรับอากาศ VIP 24 ที่นั่ง ราคา 590 บาท
รถปรับอากาศ VIP 32 ที่นั่ง ราคา 449 บาท
รถปรับอากาศ ชั้น 1 ราคา 258 บาท
รถปรับอากาศ ชั้น 2 ราคา 280 บาท
ลงรถที่ผานกเค้า *หมายเหตุ -ต่อรถสองแถวจากผานกเค้า ถึงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ราคา 20 บาท/คน

ที่มา :

http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1002

รพ.ยันฮี เปิดตัวโครงการ “สาวอีสานสวยด้วย...ยันฮี” พร้อมจัดประกวด “ยันฮี พรีเซ็นเตอร์ปี 52” .

ข่าวนานมาแล้วครับ... สาวอีสานสวยๆก็เยอะนะครับ ไม่ว่าภาคไหนก็มีทั้งสวยและไม่สวยปะปนกันไปทั้งนั้นแหละครับ

รพ.ยันฮี เดินกลยุทธ์ราคา สู้ศึกกระแสศัลยกรรมความงามเกาหลีมาแรง รุกเปิดโครงการ สาวอีสาน สวยด้วยยันฮี ดึงสาวไทยเสริมจมูกเพิ่มขึ้นในราคาพิเศษเพียง 5 พัน มั่นใจคุณภาพ และเทคนิคสวยเป็นธรรมชาติ ราคาที่ถูกกว่ากระตุ้นผู้หญิงอยากสวยหันมาใช้บริการศัลยกรรมความงามโดยแพทย์ไทย แทนเกาหลี วาดแผนครองอันดับ 1 โรงพยาบาลด้านความงาม ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ในอนาคตอันใกล้

นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเลเซอร์ โบท็อกซ์ทำให้ผู้หญิงสวยขึ้นได้ และสามารถ ลบริ้วรอยได้บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าอยากมีจมูกโด่ง คงต้องพึ่งการทำศัลยกรรมพลาสติกเท่านั้น ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของมหาวิทยาลัยขอนแก่น (อีสานโพลล์) ถึงความต้องการของสาวอีสาน จำนวน 500 คน ใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า มีถึง 75.3% ของผู้ถูกสำรวจ ที่สนใจอยากทำศัลยกรรมเสริมจมูก โดยให้เหตุผลหลากหลายกันไป

จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้ทางโรงพยาบาลยันฮีตัดสินใจเปิดตัวโครงการ สาวอีสานสวยด้วยยันฮี เพื่อส่งเสริมสาวอีสานและสาว ๆ ทั่วประเทศให้มีจมูกสวย โดยโรงพยาบาลยันฮีคิดค่าบริการเสริมจมูกในราคาเหมาจ่าย 5,000 บาท จากเดิม 9,900บาท ใช้เวลาในการผ่าตัดเพียง 30 นาที นอนพักอีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้ และใช้เวลาพักฟื้นที่บ้านอีกประมาณ 3 วัน จมูกก็จะดูดีขึ้น

นพ.สุพจน์ กล่าวต่อว่า นโยบายในการขยายตลาดของ รพ.ยันฮี ในช่วงนี้จะมุ่งที่การดึงผู้หญิงไทย หันกลับมาใช้บริการของโรงพยาบาล และ แพทย์ศัลยกรรมชาวไทย เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดกระแสความนิยมการศัลยกรรมความงามตามเทรนด์เกาหลี ทั้งที่คุณภาพ และเทคโนโลยีในการศัลยกรรมของไทยเหนือกว่า โดย รพ.ยันฮี อยู่ในแวดวงศัลยกรรมมากว่า 15 ปี ขณะที่เกาหลี เพิ่งเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้เพียง 3 ปี นอกจากนี้การศัลยกรรมความงามในไทยยังถูกกว่าเกาหลีถึง 3 เท่า และ เทคนิคในการทำศัลยกรรมที่ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า โดยโครงการ สาวอีสาน สวยด้วยยันฮี นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ รพ.ยันฮี นำมาใช้ดึงสาวไทย ให้หันมาใช้บริการศัลยกรรมความงาม รพ.ไทย แทนเกาหลี

นอกจากนี้ รพ.ยันฮี ยังได้เดินแผนขยายตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยการโรดโชว์ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ฯลฯ เพื่อเปิดตัวว่า รพ.ยันฮี มีความสามารถในการศัลยกรรมความงามหลายรูปแบบ ไม่แพ้ชาติอื่นๆ ด้วยประสบการณความงามกว่า 15 ปี ในปัจจุบันประเทศไทย นับเป็น Medical Hub ในธุรกิจความงาม โดยในแต่ละปีมีต่างชาติได้เข้ามาใช้บริการด้านศัลยกรรมในไทย เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ตลาดมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท มีการเติบโตประมาณ 20% ต่อปี เฉพาะการศัลยกรรมความงามมีสัดส่วนถึง 50% ในตลาด โดยรูปแบบของการทำศัลยกรรม มีในหลายลักษณะทั้งผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศ เสริมจมูก ดึงหน้า ทำตา กำจัดขน กำจัดไขมัน ฯลฯ

สำหรับ รพ.ยันฮี ในปีที่ผ่านมามีรายได้ 1,000 ล้านบาท สัดส่วนจากการรักษาโรคทั่วไป 600 ล้านบาท จากบริการศัลยกรรมความงาม 400 ล้านบาท โดยการทำศัลยกรรมที่ทำรายได้สูงสูดกว่า 100 ล้านบาท มาจากการผ่าตัดแปลงเพศ รองลงมาคือ การเสริมจมูก ทำตา กำจัดไขมัน และอื่นๆ ในส่วนของการเสริมจมูกนั้น ปัจจุบันมีผู้หญิงมาทำจมูกกับ รพ.ยันฮี แล้ว 30,000 ราย ทั้งนี้จากการจัดโครงการ สาวอีสานสวยด้วย ยันฮี คาดว่าในปีนี้จะมีสาวๆเข้ามาทำจมูกกับทาง รพ.ประมาณ 500 คน และมีสาวๆมาใช้บริการความงามอื่นๆเพิ่มอีกกว่า 10,000 คน จึงมั่นใจว่าจะกระตุ้นให้รายได้ รวมของ รพ.ยันฮี ในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% และผลักดันให้ รพ.ยันฮี ก้าวขึ้นป็นอันดับ1 ด้านความงามในภูมิภาค South East Asia ได้ในอนาคตอันใกล้

สำหรับโครงการประกวด " ยันฮี พรีเซนเตอร์ปี 52 " นพ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า การประกวดยันฮี พรีเซ็นเตอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสื่อสารการตลาดที่ทางโรงพยาบาลยันฮีจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี และสร้างดาวดวงใหม่ประดับวงการมาแล้วหลายท่าน อาทิ คุณหนิง กมลา กำภู ณ อยุธยา ยันฮีพรีเซ็นเตอร์ ปี 2541 คุณปูเป้ อรหทัย ซื่อศรีสวัสดิ์ ยันฮี พรีเซ็นเตอร์ปี 2542 คุณสุภัสสร มามีเกตุ ยันฮี พรีเซ็นเตอร์ ปี 2543 และอีกหลายท่าน

สำหรับในปีนี้ ทางโรงพยาบาลยันฮีได้จัดให้มีโครงการสรรหาสาวผู้โชคดี เพื่อรับตำแหน่ง ยันฮี พรีเซ็นเตอร์ ปี 52 โดยใช้กติกาใหม่ เพียงคุณเป็นหญิงไทยอายุระหว่าง 15 -50 ปี ไม่ต้องสวย ไม่ต้องโสด ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ก็มีสิทธิส่งรูปถ่ายขนาด 4x 6 นิ้ว พร้อมเขียนชื่อที่อยู่ด้านหลังรูปถ่ายทุกใบพร้อมเบอร์โทรแล้วส่งรูปถ่ายมาทางไปรษณีย์ ซึ่งในปีนี้จะตัดสินผู้ได้รับรางวัลด้วยการจับฉลากผู้โชคดี ภายใต้แนวคิด ไม่ว่าคุณหรือใครก็มีสิทธิ์เป็นยันฮี พรีเซ็นเตอร์ ปี 52 ผู้โชคดีได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท รายละเอียดโครงการสามารถติดตามได้ที่ www.yanhee.co.th ยิ่งส่งมากยิ่งมีสิทธิ์มาก ครับ

ที่มา : http://www.meedee.net/magazine/med/sergery-way/2463

อาหารพื้นเมืองอีสาน

หากจะกล่าวถึงอาหารการกินของคนอีสาน หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยและได้ลิ้มชิมรส กันมาบ้างแล้ว ชาวอีสานมีวถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเช่นเดียวกับการที่รับประทานอาหารอย่างง่ายๆ มักจะรับประทานได้ทุกอย่าง เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของภาคอีสาน ชาวอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆที่สามารถรับประทานได้ในท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นอาหารรับประทาน อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีความแตกต่างจากอาหารของภาคอื่นๆ และเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอีสาน อาหารของชาวอีสานในแต่ละมื้อจะเป็นอาหารง่ายๆเพียง 2-3 จาน ซึ่งทุกมื้อจะต้องมีผักเป็นส่วนประกอบหลักพวกเนื้อส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อปลาหรือเนื้อวัวเนื้อควาย ความพึงพอใจในรสชาติอาหารของชาวอีสานนั้นไม่มีตายตัวแล้วแต่ความชอบของบุคคล แต่อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนใหญ่แล้วจะออกรสชาติไปทางเผ็ด เค็ม และเปรี้ยวเครื่องปรุงอาหารอีสานที่สำคัญและแทบขาดไม่ได้เลย คือ ปลาร้า ซึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหารของบรรพบุรุษของชาวอีสาน ถ้าจะกล่าวว่าชาวอีสานทุกครัวเรือนต้องมีปลาร้าไว้ประจำครัวก็คงไม่ผิดนัก ปลาร้าใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารได้ทุกประเภท เหมือนกับที่ชาวไทยภาคกลางใช้น้ำปลา

© ลักษณะการปรุงอาหารพื้นเมืองอีสาน

» ลาบ เป็นอาหารประเภทยำที่มีเนื้อมาสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า พริก ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี รับประทานกับผักพื้นเมือง นิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่

» ก้อย เป็นอาหารประเภทยำที่จะนำเนื้อย่างมาหั่นเป็นชิ้นๆผสมกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่ ทานกับผักสดนานาชนิด

» ส่า เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำหนังหมู เนื้อหมูย่างสับมาผสมกับหัวปลี วุ้นเส้น

» แซ หรือ แซ่ เป็นอาหารประเภทยำที่นำเนื้อสดๆมาปรุงนิยมใช้กับเนื้อวัวและหมู คล้ายๆลาบแต่มักใส่เลือดสดๆด้วย กินกับผักสดตามชอบ คนโบราณนิยมกินเพราะเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล

» อ่อม เป็นอาหารประเภทแกงแต่มีน้ำน้อยมีผัก พื้นเมืองหลายชนิดนิยมใช้กับเนื้อ ไก่และปลาหรือเนื้อกบเนื้อเขียดหรือเนื้อสัตว์อื่นๆแต่เน้นที่ปริมาณผัก

» อ๋อ ลักษณะคล้ายอ่อมแต่ไม่ใส่ผัก(ใส่เพียงต้นหอม ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบแมงลัก) นิยมใช้ปลาตัวเล็ก กุ้ง หรือไข่มดแดงปรุง ใส่น้ำพอให้อาหารสุก

» หมก เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบตองห่อนิยม ใช้กับเนื้อปลา ไก่ แมลง กบ เขียด ผักและหน่อไม้ หมกหรือห่อหมกของภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิ

» อู๋ คล้ายหมกแต่ไม่ใช้ใบตอง นิยมใช้กับเนื้อปลาโดยเฉพาะปลาตัวเล็กๆ กับพวกลูกอ๊อดกบ

» หม่ำ คือ ไส้กรอกเนื้อวัวผสมตับ ตะไคร้และเครื่องเทศอื่นๆ

» หม่ำขึ้ปลา มีลักษณะคล้ายปลาร้าชนิดหนึ่งรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว หมักกับข้าวเหนียว

» แจ่ว คือ น้ำพริกของชาวอีสานนิยมใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาร้า บางครั้งใส่มะกอกพื้นบ้านก็เป็นแจ่วมะกอก รับประทานกับผักสด ลวก หรือนึ่ง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันทุกบ้านในภาคอีสาน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก

» ตำซั่ว เป็นอาหารประเภทส้มตำชนิดหนึ่ง แต่ใส่ส่วนประกอบมากกว่า คือ ใส่ขนมจีน ผักดอง ผัก(เหมือนที่ใส่ขนมจีน) และมะเขือลาย หรือผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย



Read more: http://www.taksilanakhon.com/wizContent.asp?wizConID=182&txtmMenu_ID=7#ixzz1mWNrmMxk

ที่มา :http://www.taksilanakhon.com/wizContent.asp?wizConID=182&txtmMenu_ID=7

คำขวัญจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน

หนองคาย
วีรกรรมปราบฮ่อ หลวงพ่อพระใส สะพานไทย-ลาว

เลย
เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม

หนองบัวลำภู
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอุทยานแห่งชาติภูเก้าภูพานคำ แผ่นดินธรรมหลวงปู่ขาวเด่นสกาวถ้ำเอราวัณ นครเขื่อนขัณฑ์กาบแก้วบัวบาน

ชัยภูมิ
ชัยภูมิทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษสุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวาราวดี

อุดรธานี
น้ำตกจากสันภูพาน อุทยานแห่งธรรมะอารยธรรมห้าพันปี ธานีผ้าหมี่-ขิต แดนเนรมิตหนองประจักษ์ เลิศลักษณ์กล้วยไม้หอม อุดรซันไฌน์

ขอนแก่น
พระธาตุขามแก่น เสียงแคนดอกคูณศูนย์รวมผ้าไหม ร่วมใจผูกเสี่ยว เที่ยวบึงแก่นนคร

สกลนคร
พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมืองงามลือเลื่องหนองหาน แลตระการปราสาทผึ้งสวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธธรรม

นครพนม
พระธาตุพนมล้ำค่า วัฒนธรรมหลากหลายเรณูภูไท เรือไฟโสภา งามตาฝั่งโขง

มุกดาหาร
เมืองชายโขงงาม มะขามหวานเลิศ ถิ่นกำเนิดลำพญาภูผาเทิบพิสดาร กลองโบราณล้ำค่าวัฒนธรรมไทยแปดเผ่าเขามโนรมย์เพลินตา โสภาแก่งกระเบา

กาฬสินธุ์
เมืองฟ้าแดดสูงยาง โปงลางเลิศล้ำวัฒนธรรมภูไท ผ้าไหมแพรวา

มหาสารคาม
พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักศิลานคร

นครราชสีมา
เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราชปราสาทหิน ดินด่านเกวียน

ร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงรามเรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดีสตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส

อำนาจเจริญ
พระมงคลมิ่งเมือง แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำงามล้ำถ้ำศักดิ์สิทธิ์ เทพนิมิตรพระเหลา เกาะแก่งเขาแสนสวยเลอค่าด้วยผ้าไหม ราษฎร์เลื่อมใสใฝ่ธรรม

ยโสธร
เมืองประชาธิปไตย บั้งไฟโก้ แตงโมหวานหมอนขวาน ผ้าขิต แหล่งผลิตข้าวมะลิ

บุรีรัมย์
เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม

สุรินทร์
สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม

ศรีสะเกษ
ศรีสะเกษแดนปราสาทขอม หอมกระเทียมดีมีสวนสมเด็จ เขตดงลำดวน หลากล้วนวัฒนธรรม

อุบลราชธานี
เมืองแห่งสุนทรีย์ รับสุรีย์แรกอรุณ ถิ่นนักบุญแหล่งบัวบานงานเทศกาลเทียนพรรษา แหล่งอารยาก่อนประวัติศาสตร์สนามบินนานาชาติ ประตูค้ากับอินโดจีน

บึงกาฬ
สองนางศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่ แหลงน้ำใสหนองกุดทิง สุดใหญ่ยิ่งแข่งเรือยาว หาดทรายขาวเป็นสง่า น่าทัศนาแก่งอาฮง งามน้ำโขงที่บึงกาฬ สุขสำราญที่ได้ยล

ที่มา : http://www.bcoms.net/directory/slogan-province1.asp
ที่มา : http://www.mybungkan.com/index.php?topic=1178.0